ภาวะหนังศรีษะเป็นขุย
(scaling scalp หรือ scalp hyperkeratosis)

เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยจะมีอาการ เช่น คัน แสบ หรือ ปวด และอาจนำไปสู่อาการทางผิวหนังอื่นที่จะเกิดต่อเนื่องได้
เช่น ภาวะผมร่วง และหนังศีรษะหนา

โรคที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อย

  1. รังแค (dandruff)
  2. โรคผิวหนังอักเสบ (seborrheic dermatitis)
  3. สะเก็ดเงิน
  4. โรคกลาก
  5. ผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (contact dermatitis)

รังแค และ โรคผิวหนังอักเสบ seborrheic dermatitis เป็นสาเหตุของภาวะหนังศีรษะเป็นขุยที่พบได้บ่อยที่สุด ทั้งสองภาวะนี้จะแตกต่างกันที่รังแคจะมีขุยจำกัดอยู่แค่บริเวณหนังศีรษะ ส่วนโรคผิวหนังอักเสบจะเกิดได้หลายส่วนบนร่างกาย 


รังแค

เป็นภาวะที่พบบ่อย มีการคาดคะเนว่า อุบัติการณ์ตลอดชีวิต (lifetime incidence) อาจจะสูงถึงร้อยละ 50 โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบได้บ่อยที่สุดในช่วงอายุ 20 ปี และจะเริ่มลดลงหลังอายุ 50 ปี

โรคผิวหนังอักเสบ (seborrheic dermatitis)

เป็นผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดขึ้นในบริเวณที่มีต่อมไขมันหนาแน่น (seborrheic areas) ซึ่งได้แก่ หนังศีรษะ ใบหน้า และหน้าอก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยเช่นกัน โดยพบมากใน 3 ช่วงอายุ คือ วัยทารกช่วงสามเดือนแรก ช่วงวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ช่วงอายุ 40-60 ปี

อาการ

รังแคมีอาการแสดงเป็นขุยสีขาวถึงเหลืองหรือเทา ไม่พบการอักเสบหรือรอยแดงของหนังศีรษะ โดยมักไม่มีอาการ หรือมีอาการคันเพียงเล็กน้อย รังแคสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ (dry dandruff) เป็นขุยแห้งละเอียดสีขาว (oily dandruff) เป็นขุยมันหนาสีเหลือง

โรคผิวหนังอักเสบ seborrheic dermatitis พบเป็นผื่นแดง มีขุยสีเหลืองถึงเทา ขุยมันและค่อนข้างหนา ซึ่งอาจจะพบได้ที่หนังศีรษะ ใบหน้า หรือหน้าอก โดยพบอาการคันได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงคันมาก
ในวัยผู้ใหญ่แนวโน้มมักโรคเป็นเรื้อรัง ผื่นพบบ่อยที่สุดที่ใบหน้า ได้แก่ บริเวณซอกข้างจมูก คิ้ว และเปลือกตา รองลงมาคือ
บริเวณหนังศีรษะ ซอกหลังใบหู และหน้าอกส่วนบน

สาเหตุ และ กลไกการเกิดโรค

ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่ปัจจัยหลักที่พบว่ามีผลต่อการเกิดโรค ได้แก่

  1. การผลิตไขมันของต่อมไขมัน (sebaceous gland secretion) และความผิดปกติขององค์ประกอบของไขมันผิวหนังที่สร้างขึ้น (alteration in sebum)
  2. การสะสมรวมกลุ่มของเชื้อราชนิด Malassezia
  3. ความไวต่อการเกิดโรคในแต่ละบุคคล (individual susceptibility)

แนวทางการรักษา

 การรักษารังแคและ seborrheic dermatitis ของหนังศีรษะ

1. เพื่อลดจำนวนเชื้อรา

สามารถเลือกใช้แชมพูต้านเชื้อรา หรือยารับประทานต้านเชื้อรา ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค
กลุ่มแชมพูต้านเชื้อรา โดยให้สระผมและทิ้งไว้บนหนังศีรษะประมาณ 5-10 นาที่ ได้แก่

  • 1-2% ketoconazole shampoo
  • 0.75% pyroctone olamine shampoo
  • 1-2.5% selenium sulfide shampoo
  • 1% zinc pyrithione shampoo
  • coal tar shampoo (นอกจากมีฤทธิ์ต้านเชื้อราแล้วยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ และ anti-proliferation ด้วย)

กลุ่มยารับประทานต้านเชื้อรา ใช้ในรายที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ itraconazole และ terbinafine

2. เพื่อลดการอักเสบ
  • topical corticosteroids
  • topical calcineurin inhibitors
  • การรักษาด้วยแสงแดดเทียม
3. เพื่อลดขุย (scale removal)

ใช้ยากลุ่ม keratolytic ได้แก่ 2-3% salicylic acid ทั้งในรูปของครีม โลชั่น หรือ แชมพู เพื่อให้ขุยหลุดลอกออกง่ายขึ้น ส่วนสารอื่นที่เลือกใช้ได้แก่ glycolic acid และ urea

4. เพื่อลดความมันของหนังศีรษะ หรือเพิ่มความชุ่มชื้นของหนังศีรษะ

ในกรณีที่หนังศีรษะมันมากอาจพิจารณาใช้ยาเพื่อลดความมัน ได้แก่ ยาคุมกำเนิดเฉพาะในผู้ป่วยหญิง หรือ
isotretinoin ขนาด 0.3-0.5 มก./กก./วัน
ส่วนในผู้ที่มีหนังศีรษะแห้ง ให้เพิ่มความชุ่มชื้นของหนังศีรษะด้วยการหมักน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันมะกอก ก่อนสระผม เป็นต้น


สะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ (scalp psoriasis)

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ที่พบได้ประมาณร้อยละ 1-3 ของประชากรทั้งหมด อาการทางผิวหนังคือ ผื่นจะมีลักษณะนูนแดง ขอบเขตชัด มีขุยสีขาวเงิน พบได้ทั้งบริเวณร่างกายและหนังศีรษะ ร่วมกับอาจพบ ความผิดปกติของเล็บ และข้อร่วมด้วย

โรคกลากที่หนังศีรษะ (tinea capitis)

โรคกลากเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม dermatophyte โดยกลากที่เกิดขึ้นบนบริเวณหนังศีรษะ มักเกิดในกลุ่มผู้ป่วยเด็กและช่วงวัยก่อนเข้าสู่วัยรุ่น ส่วนในวัยผู้ใหญ่พบได้น้อย

อาการ

อาการแสดงของโรคกลากที่หนังศีรษะค่อนข้างหลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ

ผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสที่หนังศรีษะ (contact dermatitis of the scalp)

เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะหนังศีรษะเป็นขุยแต่พบได้ไม่บ่อยมากนัก แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ผื่นระคายเคืองจากการสัมผัส (irritant contact dermatitis) และผื่นแพ้สัมผัส (allergic contact dermatitis)

  • ผื่นระคายเคืองจากการสัมผัสที่หนังศีรษะ ประวัติอาจพบมีอาการแสบร้อนหลังจากสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองตรวจพบผื่นแดงบวม อาจมีน้ำเหลืองร่วมด้วยหากมีอาการมาก สารที่พบว่าก่อการระคายที่หนังศีรษะได้บ่อย ได้แก่ น้ำยาย้อมผม และ น้ำยาดัดผม เป็นต้น
  •  ส่วนผื่นแพ้สัมผัสที่หนังศีรษะนั้น มักตรวจพบผื่นแดงลอกเป็นขุย โดยที่อาการคันจะเป็นอาการเด่น การวินิจฉัยผื่นแพ้สัมผัสที่หนังศีรษะนั้น อาศัยประวัติสัมผัสสารที่อาจจะก่อให้เกิดการแพ้

สำหรับผู้ที่มีอาการเหล่านี้ แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อทำการรักษาต่อไปค่ะ