แผลเป็นเกิดจาก

            แผลเป็น เกิดขึ้นจากกระบวนการของการรักษาแผลของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแผลจากอุบัติเหตุ แผลผ่าตัด หรือ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก หลังจากนั้น ร่างกายจะผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า คอลลาเจน เพื่อช่วยสร้างเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายขึ้นใหม่ ทำให้บาดแผลสมานกัน

ทำไมเราถึงมีแผลเป็น?

            เมื่อผิวหนังได้รับการบาดเจ็บจนเป็นแผล ร่างกายของเราจะทำการตอบสนองอย่างรวดเร็วในการซ่อมแซมผิวหนังบริเวณนั้น โดยที่ร่างกายจะมุ่งเน้นไปที่การเร่งรักษาบริเวณนั้นอย่างรวดเร็ว มากกว่าการที่จะรักษาให้ผิวหนังบริเวณนั้นกลับคืนมาสู่สภาพสมบูรณ์เช่นเดิม ดังนั้นจึงทำให้คอลลาเจนในผิวหนังได้รับการผลิตออกมามากเกินไป ในบริเวณที่เกิดแผลจนนำไปสู่การเกิดแผลเป็นขึ้น

กระบวนการเกิดแผลเป็น

            การเกิดแผลเป็นจะกินระยะเวลายาวนานได้ถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับขนาด และความลึกของบาดแผล ซึ่งกระบวนการของการเกิด
แผลเป็นนั้น จะประกอบไปด้วย 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 เมื่อผิวหนังเกิดบาดแผล เลือดจะไหลไปรวมกันที่บริเวณนั้น และก่อตัวเป็นก้อนขึ้นเพื่ออุดบริเวณเส้นเลือดที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งลดการเสียเลือดที่จะเกิดขึ้น จากนั้นเซลล์ที่อยู่ภายในเม็ดเลือด จะทำการปล่อยสารเคมีที่ช่วยทำความสะอาดบาดแผล และเตรียมบาดแผลสำหรับขบวนการรักษา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้จะใช้เวลา 2-3 วัน

ระยะที่ 2 กระบวนการรักษาเริ่มต้นขึ้น คอลลาเจน สารพื้นฐานต่างๆ และโครงสร้างของเนื้อเยื่อแผลเป็นเริ่มก่อตัวในระยะนี้จะใช้เวลาตั้งแต่ 2 วันถึง 3 สัปดาห์ โดยเส้นเลือดฝอยจะก่อตัวขึ้นใหม่ และผิวหนังด้านนอกทำการรักษาตัวเอง 

ระยะที่ 3  คอลลาเจนจะก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเติมเต็มบริเวณของบาดแผล ทำให้เกิดเป็น แผลเป็นขึ้นมา โดยโครงสร้างของแผลเป็นดังกล่าวจะเชื่อมต่อกันเพื่อปกคลุม และปกป้องบริเวณที่เป็นแผล ในเดือนต่อๆมา ผิวหนังที่เป็นแผลจะเริ่มฟื้นคืนสภาพกลับมาโดยความแข็งแรงของผิวหนังจะกลับคืนมาประมาณ 70-80%

แผลเป็นมีกี่ชนิด

            เนื่องจากบาดแผลของแต่ละคนนั้นจะทำการรักษาตัวเองแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล และปัจจัยอื่นๆ เช่น ลักษณะของผิว ตำแหน่งของแผลเป็น ประเภทของบาดแผล อายุ พันธุกรรม จะมีผลในการกำหนดลักษณะของแผลเป็น สำหรับชนิดของแผลเป็นนั้นสามารถแบ่งออกได้อย่างคร่าวๆ ดังนี้

แผลเป็นทั่วไป

แผลเป็นชนิดนี้จะดูอักเสบและมีสีคล้ำหรือดำในช่วงแรกเริ่มแต่ในที่สุดก็จะเนียนเรียบและจางลงเมื่อเวลาผ่านไปจนกลายเป็นแผลเป็นที่ไม่เด่นชัดนัก  

Atrophic Scars

แผลเป็นชนิดนี้จะเป็นสาเหตุให้เกิดหลุม หรือรอยนูนบนผิวหนัง ตัวอย่างเช่น แผลเป็นที่เกิดขึ้นจากสิว หรืออีสุกอีใส

Hypertrophic Scars

คือ แผลเป็นที่นูนขึ้นมาจากระดับพื้นผิวของผิวหนังปกติ ซึ่งเกิดจากปริมาณของคอลลาเจนที่ถูกผลิตออกมามากเกินไป โดยแผลเป็นชนิดนี้จะปรากฎขึ้นภายในขอบเขตของบาดแผลเท่านั้น

Keloid Scars

คือ แผลเป็นที่ยกนูนขึ้นมา และแพร่กระจายออกมานอกขอบเขตของบริเวณบาดแผล แผลเป็นชนิดนี้จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเวลาผ่านไป และมักจะกลับมาเกิดใหม่

การหดตัวของแผลเป็น (Scars Contractures)

การหดตัวของแผลเป็น มักจะเกิดขึ้นเมื่อแผลเป็นนั้นพาดผ่านช่วงข้อต่อ หรือเมื่อผิวหนังนั้นมีการย่นเข้าหากันในบางมุม แผลเป็นในลักษณะนี้นั้นมักจะเกิดขึ้นกับแผลไฟไหม้  

รอยแตกลาย (Stretch Marks/Striae)

เกิดจากการยืดตึงของผิวหนัง ซึ่งส่งผลให้มีการทำลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน จนเกิดรอยแตก และการยุบตัวลงของชั้นผิวหนังแท้ (Dermis) โดยมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การเข้าสู่วัยรุ่น การตั้งครรภ์ น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว พบได้บ่อยในเพศหญิง

แผลเป็นมีผลกระทบต่อเราอย่างไร?

            แผลเป็น สามารถเป็นสาเหตุให้บางคนนั้นสูญเสียความมั่นใจ โดยผลที่มีต่อจิตใจนี้มักจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับ ตำแหน่งของแผลเป็น หรือลักษณะในการเกิดของแผลเป็น รวมทั้งปัจจัยทางด้านอายุ และเพศของบุคคลนั้นๆ

            จากการศึกษาพบว่าใน 65% ของผู้หญิงและ 35% ของผู้ชาย เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจเพราะแผลเป็นของตน นอกจากผลของแผลเป็นที่มีต่อภาวะจิตใจแล้ว ในบางสถานการณ์ แผลเป็นยังสามารถมีผลต่อสภาวะทางร่างกายได้เช่นกัน ได้แก่ ความรู้สึกเจ็บปวด และอาการคัน โดยเฉพาะในกรณีที่ ตำแหน่งของแผลเป็นนั้นเกิดขึ้นในบริเวณของข้อต่อ ซึ่งส่งผลเในการจำกัดการเคลื่อนไหวของร่างกายในส่วนนั้น

มีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะช่วยรักษาแผลเป็น?

  1. ทายา ยาจะมีส่วนประกอบเป็นสารที่ช่วยลดการอักเสบ และลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน ผลก็คือแผลเป็นที่เป็นรอยแดง รอยคล้ำดำจะค่อยๆ จางลง ยาบางชนิดจะเป็นซิลิโคน มีทั้งรูปแบบแผ่นเจลแปะ หรือเป็นเนื้อเจลเหลว ทาเพื่อกดทับบริเวณแผลที่นูนอยู่จะแบนลง และไม่นูนมากขึ้น
     
  2. การผ่าตัด ในกรณีแผลเป็นจากไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง และส่งผลให้ขยับข้อแขน ขา บริเวณนั้นไม่ได้ ศัลยแพทย์ตกแต่งจะช่วยรักษาได้ และอาจจะต้องปลูกถ่ายผิวหนังมาจากบริเวณอื่น
  3. การทำเลเซอร์ วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลเร้ว ซึ่งการทำเลเซอร์จะมีสองแบบ คือ
    • Vascular Laser เช่น Quadrostar Proyellow Laser ยิงไปบนแผลเป็นที่มีรอยแดงอยู่ เช่นแผลสิว หรือแผลที่นูนแบบ keloid หลังยิงจะไม่มีแผล เลเซอร์จะลงไปที่หลอดเลือดฝอยบริเวณแผล และทำให้แผลแดงน้อยลง แบนลง จางลง
    • Fractional Laser คือเลเซอร์ที่จะส่งพลังงานลึกลงไปในชั้นผิว เป็นหย่อมเล็กมากๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเนื้อเยื่อรอบๆ ให้จัดเรียงตัวใหม่ (collagen remodeling) ผลก็คือ แผลเป็นที่เป็นหลุมลึก หลุมสิว จะเรียบเนียนขึ้น ผิวส่วนอื่นก็จะมีคอลลาเจนเพิ่มขึ้นด้วย กรณีที่ทำบนแผลเป็นนูน เช่น คีลอยด์ หรือแผลผ่าตัดที่นูนใหญ่ ก็จะแบนลง เนื้อแผลจะอ่อนนุ่มใกล้เคียงผิวหนังปกติมากขึ้น แต่ก็ต้องทำหลายครั้งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การทำครั้งเดียวก็เริ่มเห็นผลแล้ว แต่ถ้าทำต่อเนื่องกัน
      4-5 ครั้ง ก็จะทำให้เห็นผลดียิ่งขึ้นไปอีก
  4. การฉีด  วิธีนี้เป็นการฉีดยากลุ่มเสตียรอยด์เข้าไปในเนื้อแผลเป็นนูน จะทำให้นิ่มและบางลง โดยฉีดประมาณเดือนละ1ครั้ง  

การป้องกันการเกิดแผลเป็น

เราจะป้องกันการเกิดแผลเป็น เมื่อเกิดแผลใหม่ๆได้ด้วยการ

  • ป้องกันการติดเชื้อ ทายาฆ่าเชื้อ งดการแกะ และการเกา
  • ใช้ผ้ารัดหรือ pressure garment  ในบางครั้งแผลที่มีขนาดใหญ่ เช่นแผลที่เกิดจากไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก อาจจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น pressure garment ซึ่งจะต้องสวมใส่เพื่อรัดบริเวณที่เกิดแผล เช่น ใบหน้า ลำตัว และแขน ขา ในช่วงระยะประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีแรกหลังจากเกิดอุบัติเหตุ
  • ใช้ Silicone แผ่นแปะ หรือแบบเจล  เพื่อช่วยลดขนาดของคีลอยด์ หรือแผลเป็นชนิดนูนให้เล็กลง ใช้แปะ หรือทาแผลไว้
    วันละ 12 ชั่วโมง ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
  • สามารถเริ่มการรักษาด้วยการใช้ Laser หลังจากที่แผลปิดประมาณ 1 เดือน ยิ่งรักษาเร็ว ผลการตอบสนองก็จะยิ่งดีขึ้น