โรคผมร่วงเป็นหย่อม คืออะไร
โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เป็นโรคผมร่วงที่พบบ่อย พบได้ในทุกช่วงอายุ ผู้ป่วยมักมีอาการผมร่วงเฉพาะที่ บริเวณผมที่ร่วงมีลักษณะกลม หรือ รี ผู้ป่วยอาจมีอาการขนร่วงที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น หนวด เครา ขนคิ้ว และขนตามร่างกาย
ผู้ป่วยที่มีอาการมาก คือมีผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis) มีขนบริเวณอื่นของร่างกายร่วงจนหมดร่วมด้วย(Alopecia Universalis)
ส่วนใหญ่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผมร่วงมากเท่าใด ในผู้ป่วยบางรายที่มีผมร่วงไม่มากอาการอาจจะหายได้เอง แต่มักจะใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ซึ่งต่างจากผู้ป่วยที่มีผมร่วงมากที่มักจะไม่หายเอง โรคนี้อาจมีอาการเป็นๆหายๆได้ ซึ่งการเป็นซ้ำอาจเกิดขึ้นเอง หรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายได้รับการกระตุ้นจากภาวะเครียดทางร่างกาย และจิตใจ
โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากอะไร
อาการผมร่วง ในโรคผมร่วงเป็นหย่อมนี้ เชื่อว่าเกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อรากผมตนเอง (autoimmunity) ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดได้อย่างไร
โรคนี้อาจพบร่วมกับโรคอื่นได้ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคภูมิแพ้ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (atopic dermatitis) โรคไทรอยด์ หรือ โรคด่างขาว (Vitiligo)
โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยผู้ป่วยอาจมีประวัติญาติที่มีสายเลือดใกล้ชิด มีอาการเหมือนกัน
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการอื่นนอกจากมีผมร่วง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเจ็บ หรือรู้สึกผิดปกติที่บริเวณหย่อมผมร่วงได้ ผมอาจเป็นสีขาวได้เนื่องจากโรคนี้อาจมีผลต่อเซลล์ที่สร้างสีของผม เล็บอาจมีลักษณะเป็นหลุมเล็กๆ ตื้นๆ ที่บริเวณผิวเล็บ (pitting nail)
การรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม
การวินิจฉัยโรค ส่วนใหญ่สามารถวินิจฉัยได้จากอาการทางคลินิก มีเพียงบางรายที่อาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากอาจหายได้เอง ส่วนผู้ป่วยที่มีผมร่วงเป็นบริเวณกว้าง การรักษาขึ้นกับอายุของผู้ป่วยและความกว้างของหย่อมผมที่ร่วง
วิธีการรักษา
- การฉีดยาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีหย่อมผมร่วงที่ไม่กว้างมากนัก เป็นการรักษาที่ให้ผลดี เนื่องจากการฉีดยาทำให้มีความเข้มข้นของยาที่บริเวณรากผมมากกว่าการทายา
- การทายาเฉพาะที่ มียาหลายชนิดให้เลือกใช้การรักษาด้วยการทายาเหมาะกับผู้ที่มีผมร่วงเล็กน้อยจนถึงผมร่วงมาก ควรเลือกใช้ยาที่เป็นรูปแบบน้ำหรือโลชั่น เนื่องจากความสะดวกในการใช้
- การรับประทานยา มีหลายชนิดให้เลือกใช้ ยาบางชนิดอาจใช้ได้ผล แต่พบว่ามีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง และมีผลข้างเคียงมาก
อย่างไรก็ตามการรักษาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาอาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่หนังศีรษะ มีผื่นที่บริเวณอื่นของร่างกาย ขนดก เป็นรอยขาวหรือรอยดำที่หนังศีรษะ บริเวณที่ทายาหรือยาบางชนิดมีผลข้างเคียงมาก เช่น ทำให้ผิวหนังบางเป็นรอยแดง
โรคผมร่วงเป็นหย่อมนี้รักษาได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่หายขาด คนที่มีผมร่วงน้อยมักมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่าคนผมร่วงเป็นบริเวณกว้าง อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วก็อาจกลับมาเป็นซ้ำอีกได้
ข้อควรปฏิบัติในการดูแลตนเอง
- ผู้ป่วยควรมารับการรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากการรักษาอาจใช้เวลาในการรักษาหลายเดือน หรืออาจจะเป็นปี
และยังมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีก - ผู้ป่วยควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ และควรระมัดระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา
- ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
- ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เนื่องจากภาวะเจ็บป่วย หรือความเครียดอาจทำให้โรคกำเริบได้
- ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ เนื่องจากอาหารมีผลต่อสุขภาพผมได้ ไม่มีอาหารใดที่ห้ามรับประทานในคนที่เป็นโรคนี้
- ถ้าผู้ป่วยที่มีการใช้ยาทา หรือรับประทานยาอื่น หรือมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง
และ เหมาะสม