รอยแตกลาย

สาเหตุของรอยแตกลาย

  • เกิดจากการยืดตึงของผิวหนัง ซึ่งส่งผลให้มีการทำลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน จนเกิดรอยแตกและการยุบตัวลงของชั้นผิวหนังแท้ (Dermis) โดยมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การเข้าสู่วัยรุ่น (Puberty) , การตั้งครรภ์ , น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างรวดเร็ว พบได้บ่อยในเพศหญิง
  • การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง จากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น โดยฮอร์โมนดังกล่าวนี้จะชักนำน้ำเข้ามาสู่ผิวหนัง ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อกันของเส้นใยคอลลาเจนคลายลงจนทำให้เกิดโอกาสที่เนื้อเยื่อของผิวหนังจะฉีกขาดได้ง่าย เมื่อผิวหนังยืดตัวก็จะก่อให้เกิดเป็นรอยแตกลายขึ้น

จะเห็นรอยแตกลายเมื่อไหร่ ?

          แม้ว่ารอยแตกลายมักจะปรากฏให้เห็นในระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ (ประมาณเดือนที่ 6หรือเดือนที่7) ในหญิงบางรายอาจพบว่ารอยแตกลายเริ่มก่อตัวให้เห็นตั้งแต่ช่วงแรกที่ครรภ์เริ่มมีการขยายตัว โดยในผู้หญิงที่มีสีผิวขาวก็มักจะพบรอยแตกลายที่มีสีออกชมพู ในขณะที่ผู้หญิงที่มีสีผิวเข้มกว่า จะพบรอยแตกลายที่มีสีอ่อนกว่าเมื่อเทียบกับผิวปกติโดยรอบ

ระยะของการเกิดรอยแตกลาย

ระยะที่ 1

รอยแตกลายจะมีสีที่ค่อนข้างอ่อนโดยจะมีอาการคันร่วมด้วย สำหรับผิวหนังปกติรอบๆรอยแตกลาย อาจจะดูเรียบ และบาง

ระยะที่ 2

รอยแตกลายจะขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความกว้าง และความยาว รวมทั้งสีเข้ม และเด่นชัดมากขึ้น

ระยะที่ 3

เมื่อรอยแตกลายมีการพัฒนาเต็มที่ รวมทั้งผิวหนังไม่ได้ตึงเหมือนในระยะแรก รอยแตกลายจะเริ่มจางลง ในขณะที่พื้นผิวของรอยแตกลายอาจจะมีการหดตัวลงเล็กน้อย ดูไม่สม่ำเสมอกัน

หากตั้งครรภ์จะเกิดรอยแตกลาย ทุกคนไหม ?

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีโอกาส 50 – 90% ที่จะเกิดรอยแตกลายขึ้น ในการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดรอยแตกลาย
จะแตกต่างกันออกไปโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

ประเภทของผิว

รอยแตกลายมีแนวโน้มที่จะปรากฏให้เห็นในผู้หญิงที่มีสีผิวคล้ำ มากกว่าผู้หญิงที่มีสีผิวอ่อน

อายุ

โอกาสของการเกิดรอยแตกลายนั้น จะลดลงเมื่ออายุของเรามากขึ้น

ครอบครัวและกรรมพันธุ์

พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่มีรอยแตกลายระหว่างการตั้งครรภ์ มีมารดาที่เคยมีรอยแตกลายบนร่างกายเช่นเดียวกัน และในการศึกษาเดียวกันนี้พบว่า 81% ของผู้หญิงที่มีรอยแตกลายระหว่างตั้งครรภ์เคยมีรอยแตกลายเกิดขึ้นที่อื่นบนร่างกายมาก่อน

น้ำหนัก

การเกิดรอยแตกลายนั้นขึ้นอยู่กับระดับของการขยายตัวของผิวหนัง ดังนั้นจึงเชื่อกันว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น หรือลดลง อย่างฉับพลันจะมีผลต่อการเกิดรอยแตกลาย

สภาพผิว

ดูแลรักษาผิวให้ชุ่มชื้นจะช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และปรับสภาพได้ดีต่อการขยายตัวของผิวหนังในระหว่างการตั้งครรภ์

รอยแตกลาย เกิดบริเวณไหนได้บ้าง ?

          ผู้หญิงส่วนใหญ่จะพบรอยแตกลายเกิดขึ้นที่บริเวณหน้าท้องในระหว่างที่ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ รอยแตกลายสามารถเกิดขึ้นได้บริเวณเต้านม ต้นขา สะโพก และส่วนล่างของแผ่นหลัง กับช่วงก้น ถึงแม้ว่ารอยแตกลายสามารถปรากฏขึ้นได้ในแทบทุกส่วนของร่างกาย โอกาสของการเกิดรอยแตกลายจะมีสูงขึ้น ในบริเวณของร่างกายที่มีการกักเก็บไขมันเอาไว้อยู่มาก

การป้องกันการเกิดรอยแตกลาย

          การป้องกันที่ดีที่สุดต่อการเกิดรอยแตกลายก็คือ การคงสภาพความยืดหยุ่นของผิวหนังเอาไว้ให้มากที่สุดในระหว่างที่ตั้งครรภ์ซึ่งนั่นจะทำได้โดยการรักษาผิวให้ชุ่มชื้น และมีความยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลา สามารถทำได้โดย

อาหารผิว

คอลลาเจน และเส้นใยอีลาสตินในผิวหนัง เป็นส่วนที่จำเป็นต่อการคงสภาพความยืดหยุ่นของผิวที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะ
คอลลาเจน หากมีเส้นใยที่แข็งแรง โอกาสที่จะมีการฉีกขาดจนทำให้เกิดเป็นรอยแตกลายก็จะลดลงไปด้วย ดังนั้นจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี และ อี รวมทั้งแร่ธาตุซิงค์ และซิลิกาซึ่งช่วยในการสร้างคอลลาเจน
โดยเฉพาะวิตามินซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีความสำคัญในการปกป้องความเสียหายของเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ วิตามินบี2 (Riboflavin) และ บี 3 (Niacin) ยังมีส่วนช่วยในการรักษาสุขภาพที่ดีของผิวหนัง
รวมทั้งการดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ (ประมาณ 2 ลิตรต่อวัน) ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้ผิวแข็งแรงเช่นกัน

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายช่วยป้องกันไม่ให้เกิดรอยแตกลาย โดยช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น จึงช่วยทำให้ผิวหนังคงความยืดหยุ่นและขยายตัวได้ทัน เมื่อร่างกายขยายตัว โดยที่การไหลเวียนของโลหิตที่ดีขึ้นนี้ ยังช่วยลดโอกาสการเกิดเส้นเลือดขอด และอาการ
ข้อเท้าบวมในระหว่างที่ตั้งครรภ์อีกด้วย

การคงสภาพความยืดหยุ่นของผิว

การใช้ครีม หรือ ผลิตภัณฑ์สำหรับทาเฉพาะที่ ก็มีส่วนช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิวหนังได้เช่นกัน โดยการใช้อย่างต่อเนื่อง
2 ครั้งต่อวัน ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์เพื่อให้ผิวนั้นชุ่มชื้นและยืดหยุ่นได้ดีขึ้น

การควบคุมให้น้ำหนักขึ้นอย่างเหมาะสมตลอดการตั้งครรภ์

การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ การตั้งครรภ์แฝด อาจจะทำให้มีน้ำคร่ำเยอะกว่าปกติ ทำให้ผิวหนังหน้าท้องยืดขยายมาก จนนำไปสู่การเกิดรอยแตกลายขึ้น